ไหว้อย่างไรให้ดึงดูดใจคนรอบข้าง

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมการทักทายที่เชิดหน้าชูตานั่นก็คือ “การไหว้”

คนไทยทุกคนต่างทราบดีถึงเอกลักษณ์อันนี้และคงยึดถือปฏิบัติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน… “ไปลา-มาไหว้” จึงเป็นคำคุ้นหูที่ทุกคนรู้จัก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า “การไหว้ที่ถูกต้องมีกี่ระดับและจะไหว้ให้ถูกวิธีต้องทำอย่างไร” ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกันว่า การไหว้ที่ถูกต้อง ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดไว้ทั้ง 3 ระดับมีอะไรบ้าง

การไหว้ระดับที่ 1 ใช้สำหรับไหว้พระ รวมไปถึงโบราณสถาณต่างๆ วัดวาอาราม โบสถ์ โบราณวัตถุ ซึ่งเป็นการไหว้สิ่งที่สูงและควรค่าแก่การเคารพนับถือ การไหว้ที่ถูกต้องคือ จะพนมมือแล้วให้นิ้วหัวแม่มือมาอยู่ระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จะไปจรดอยู่ที่หน้าผากซึ่งเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด

การไหว้ระดับที่ 2 ใช้สำหรับการไหว้บุคคลที่เราเคารพที่รองลงมาจากพระและใช้กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่อาทิเช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อาจารย์ที่เคารพ ผู้ที่มีอายุที่เยอะกว่ารวมไปถึงผู้มีพระคุณที่เราเคารพนับถือ  การไหว้ที่ถูกต้องทำการพนมมือแล้วให้หัวแม่มืออยู่ที่ปลายจมูก อีกนัยนึงของการไว้แบบนี้แสดงถึงผู้ที่เรากำลังไหว้เป็นผู้ที่ให้กำเนิด ให้ลมหายใจ เมื่อเวลาเราเดินเจอครูที่เคยสอนหนังสือเรามา ก็ควรพนมมือขึ้นมาแล้วไหว้ระดับที่ 2 ท่านก็จะรักและเอ็นดูเรา

การไหว้ระดับสุดท้าย ใช้ไหว้คนที่อยู่ระดับเดียวกับเรา หรือใช้เป็นการรับไหว้ เจอเพื่อนเจอฝูงก็ใช้การทักทายแบบนี้ได้เหมาะสำหรับคนที่เราคุยกันอยู่เป็นประจำ เจอกันบ่อยๆก็สามารถทักทายกันแบบนี้ได้ โดยจะพนมมือแล้วให้ปลายนิ้วชี้อยู่บริเวณคาง ดังนั้น ถ้าเราจะทักทายคู่รักของเราก็สามารถใช้การไหว้ในระดับที่ 3 ได้แต่อย่าเผลอไปไหว้ระดับที่ 1 เอาซะหละ

การทักทายแบบไทยอย่างเช่นการไหว้นี้ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะปฏิบัติ เราคนไทยควรที่จะฝึกไหว้อย่างสวยงามและถูกวิธี รอยยิ้มก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนไทย เมืองไทยเมืองยิ้มยังคงเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างของประเทศ ดังนั้นแล้วการทักทายด้วยการไหว้ก็ควรมาพร้อมกับรอยยิ้มและคำพูดทักทายที่รื่นหู ไม่ใช่ว่า ไหว้อย่างงามแต่หน้าบึ้งเหมือนตึงโบท็อก ก็ไม่ใช่เรื่อง หรือ ไหว้สวย ยิ้มดี แต่ตกม้าตายที่คำพูดก็น่าเสียดาย การทักทายที่ดีถือเป็นความสนใจแรกที่ทำให้คนอยากเข้าหาเรา เลือกเอาละกันว่าอยากเป็นดอกไม้หรืออุจจาระที่จะชวนให้แมลงมาดอมดม